ศิษย์เก่าสายนักเขียนรุ่นล่าสุด ที่เพิ่งสำเร็จการศึกษาไปเมื่อต้นปี 60 นี้เอง
เธอผู้นี้คือ
ปราณปริยา ไตรวิลาสกุล
(ยิหวา)
จบจากสาขาภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร รหัส 56
ด้วยดีกรีเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง
เพราะยิหวาหลงใหลในนวนิยาย จึงตั้งใจเข้ามาเรียนสาขาภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร เพื่อที่จะได้เรียนรู้และเพิ่มพูนทักษะด้านการอ่านและเขียนโดยตรง
หลังจบการศึกษา ยิหวามีโอกาสได้เข้าทำงานในตำแหน่งกองบรรณาธิการคัดสรรต้นฉบับ สำนักพิมพ์แจ่มใส กว่า 2 ปี
เธอทำงานอย่างจริงจังในกอง บ.ก. ได้ดูแลต้นฉบับจำนวนทั้งสิ้น 52 เรื่อง โดยในจำนวนนั้นมี 11 เรื่องที่ได้รีไรท์ต้นฉบับ เขียนคำนำและคำโปรยด้วยตัวเอง
ด้วยมีใจใฝ่ฝันอยากเป็นนักเขียน ท้ายที่สุด ยิหวาจึงตัดสินใจลาออกมาทำตามความฝัน
ปัจจุบันยิหวาเป็นนักเขียนนามปากกา ‘ปราณปริยา’ ซึ่งมีผลงานตีพิมพ์ภายใต้แบรนด์ LOVE สำนักพิมพ์แจ่มใสอยู่สองเรื่อง
คือ ‘วิวาห์ส่วนบุคคล’
และ ‘Magic Moment… ห้วงปาฏิหาริย์’
ยิหวา ได้กล่าวถึงความรู้สึกของการเรียนเอกไทย ไว้ว่า
“ขึ้นชื่อว่า ‘สาขาภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร’ หลายคนอาจมองว่าน่าเบื่อหรือเปล่า เรียนแต่หลักภาษาหรือเปล่า แต่จริงๆ แล้วไม่เลยค่ะ หลักสูตรที่เรียนมา มีอะไรให้เรียนรู้เยอะมาก ยิ่งถ้าเป็นคนชอบเรื่องการเขียน การอ่านอยู่แล้วจะรักเลย มีหลายวิชาที่ตอนเรียนรู้สึกสนุกมากๆ อย่างพวกวิชาวรรณกรรม วิชาวิเคราะห์ตีความ ศิลปะการใช้ภาษา การเขียนบทโฆษณา การเขียนบทละครโทรทัศน์
วิชาที่เรียน มีทักษะหลายเรื่องทั้งด้านการเขียน การอ่านวิเคราะห์ตีความ มีประโยชน์มากตอนทำงาน ส่วนตัวเอาไปประยุกต์ใช้ได้จริงทั้งตอนเป็น บ.ก. แล้วก็ตอนเป็นนักเขียนเลย
อย่างตอนเป็น บ.ก. จะได้ใช้ทักษะการวิเคราะห์เยอะเป็นพิเศษ เพราะเราต้องวิเคราะห์ว่าเรื่องนี้มีจุดดี จุดด้อยตรงไหน ทั้งพล็อตและ
คาแรกเตอร์ตัวละครสมเหตุสมผลหรือเปล่า มีอะไรต้องปรับแก้ตรงไหนมั้ย
นอกจากหาจุดที่ต้องแก้แล้วเราต้องแนะแนวทางเบื้องต้นให้กับนักเขียนด้วยค่ะ ความที่สมัยเรียนเราเรียนเกี่ยวกับการอ่าน การเขียนมาเยอะมาก เลยง่ายที่จะเขียนพวกคำนำ คำโปรยซึ่งหลายคนบ่นว่าเขียนยาก เพราะมันต้องดึงจุดเด่นของเรื่องออกมาเล่าให้กระชับและน่าสนใจที่สุด
อีกจุดที่ทำให้เราได้เปรียบคือเราค่อนข้างเป๊ะเรื่องการใช้ภาษาไทย สายตาตรวจจับคำผิดได้ไวมาก มีคลังคำในหัวเยอะด้วย ซึ่งเรื่องพวกนี้ยังส่งผลดีในฐานะนักเขียนด้วยค่ะ
นอกจากความพยายามแล้ว ส่วนสำคัญที่ทำให้เราสามารถเดินตามความฝันมาได้ ก็ต้องขอขอบคุณอาจารย์ทุกท่านที่ช่วยขัดเกลา ฝึกฝนทักษะต่างๆ ผ่านบทเรียนตลอดสี่ปีค่ะ”
และนี่…คือมุมมองของเด็กเอกไทย ที่กล่าวถ้อยร้อยเรียงคำพูดออกมาจากความรู้สึกที่แท้จริงของเธอเอง
ยิหวา จึงเป็นอีกหนึ่งคนที่สาขาภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร ภาคภูมิใจ
#เรียนเอกไทย จบไปได้อะไรกว่าที่คิด และติดปีก ไปได้ไกลกว่าที่เห็น